วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ปรากฏการณ์ ขี้ปลาวาฬ (Red tide)
ปรากฏการณ์ ขี้ปลาวาฬ (Red tide) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเล สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ไม่เลือกเวลาและสถานที่ จากรายงานทางการสำรวจพบว่า จะเกิดขึ้นทุกๆปี และบ่อยครั้งมากขึ้น ผลกระทบและความรุนแรงมากขึ้น แต่ที่ปรากฏในประเทศไทยนั้น พบว่า เกิดขึ้นบริเวณอ่าวตอนในอ่าวไทยบริเวณจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ชายหาดบางแสนอ่าวอุดม อ่างศิลา ไปจนถึงอำเภอศรีราชา ระยะเวลาที่เกิดปรากฎการณ์คือ เดือนมิถุนายน – สิงหาคม เป็นช่วงต้นฤดูฝน มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน มีเมฆครึ้มในเวลากลางวันและมีคลื่นลมแรง
จากการวิจัยพบว่า เกิดจากการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วของ “แพลงก์ตอนพืช” (bloom) เนื่องจากมีปริมาณธาตุอาหารมากและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม แพลงก์ตอนพืช หรือ “ไดโนแฟลกเจลเลต” จำพวก “Noctiluca” สายพันธุ์หนึ่งที่ตายและเริ่มสลายตัว เวลาเกิดเมฆครึ้มหรือคลื่นลมแรง น้ำทะเลจะพัดเอาซากเหล่านี้เข้าสู่ชายฝั่ง
ไดโนแฟลกเจลเลต คือ แพลงก์ตอนพืชชนิดหนึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ แพลงก์ตอนพืชชั้นต่ำ (Procaryotic cell) และแพลงก์ตอนพืชชั้นสูง (Eucaryotic cell)
ทั้งสองชนิดมีลักษณะที่คล้าย กันคือ มีหนวดมากกว่า 1 เส้น ความยาวของหนวดจะเท่ากัน หนวดมีลักษณะเรียบบ้าง มีขนบ้าง มีสารสีประกอบ โครงสร้างภายนอกประกอบด้วยซิลิกาที่ห่อหุ้มผนังเซลล์ อาหารที่สะสมคือ แป้งหรือไพรีนอยด์ เป็นต้น
ผลกระทบและความเสียหายจากปรากฏการณ์ดังกล่าว มีผลต่อหลายๆด้านด้วยกันที่พอจะสรุปได้คือ
- ประชาชนเกิดความวิตกว่าปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ เป็นผลมาจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล โดยเฉพาะสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นภัยทางธรรมชาติที่ไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจและความเชื่อมั่นของประชาชน ที่สำคัญคือ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตนเอง
- ผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง โดยทำให้เรา และสัตว์ทะเลหลายชนิดตายเป็นจำนวนมาก
- ชายหาดมีความสกปรก มีกลิ่นเหม็น สร้างมลพิษทางอากาศทำให้ระบบการหายใจของประชาชนบริเวณดังกล่าวมีปัญหาต่อ สุขภาพ และจิตใจ และทัศนียภาพไม่น่ารื่นรมย์
- มีผลกระทบต่อการประมงชายฝั่งรวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบ โดยตรง ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชุมชนบริเวณนี้ จากรายงานการวิจัยพบว่า การทำโป๊ะ อวนลาก อวนติดตา เกิดปัญหาจับสัตว์น้ำได้ปริมาณน้อยลง ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น ฟาร์มเลี้ยง ลูกกุ้งกุลาดำเสียหายนับร้อยราย ทำให้เกิดภาวะขาดทุนเนื่องจากต้องซื้อน้ำจากบริเวณอื่นมาใช้ ส่วนการเลี้ยงปลาในกระชังนั้น ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง บางรายถึงกับหมดเนื้อ หมดตัวก็มี โดยรวมคิดเป็นความเสียหายหลายสิบล้านบาท
- ผลกระทบทางด้านการตลาด ประชาชนขาดความมั่นใจในการบริโภคสัตว์ทะเลในระยะดังกล่าว
- ผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำทะเลสกปรกมีกลิ่นเหม็น จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงส่งผลต่อภาคธุรกิจโดยรวม
จาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง เพราะความรุนแรงแต่ละครั้งนำมาซึ่งความเสียหายในด้านต่างๆ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นจึงควรหาวิธีการแก้ไขหรือเตือนภัยก่อนจะเกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ เพื่อลดความสูญเสียในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่ต้องลงทุนลงแรงอย่างมากกว่าจะ ได้ผลผลิตออกมาขาย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น