วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดูทีวี1ชั่วโมงอายุสั้นลง22นาที ชี้อันตรายเท่าสูบบุหรี่-โรคอ้วน


งานวิจัยระบุว่า รูปแบบชีวิตนั่งๆ นอนๆ ทำร้ายสุขภาพพอๆ กับการสูบบุหรี่และโรคอ้วน เนื่องจากอันตรายจากการไม่ออกกำลังกายและโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการกินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์

นักวิจัยทำการศึกษาเรื่องนี้โดยตั้งโจทย์คำนวณความเสี่ยงโดยรวมต่ออายุคาดเฉลี่ยจากการดูทีวี จากข้อมูลที่เก็บจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 11,000 คน อายุ 25 ปีขึ้นไป

รายงานที่อยู่ในบริติช เจอร์นัล ออฟ สปอร์ตส์ เมดิซินสรุปว่า เวลาในการดูทีวีอาจเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตที่เทียบได้กับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังสำคัญ เช่น การไม่ออกกำลังกายและโรคอ้วน รวมถึงการสูบบุหรี่ ซึ่งงานวิจัยอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า บุหรี่ 1 มวนทำให้อายุสั้นลง 11 นาที หรือเท่ากับการดูทีวีครึ่งชั่วโมง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ใช้ข้อมูลจากการศึกษาโรคเบาหวาน โรคอ้วน และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนออสเตรเลีย รวมถึงข้อมูลประชากรและอัตราการตาย

อย่างไรก็ดี นักวิจัยยืนยันว่าผลลัพธ์ที่ได้น่าจะครอบคลุมถึงประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย โดยพิจารณาจากเวลาในการดูทีวีและรูปแบบโรคที่ใกล้เคียงกัน

นักวิจัยจากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ระบุว่าการที่การดูทีวีนานๆ ส่งผลให้เกิดโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยน่าจะมีเหตุผลจากปัจจัยทางชีววิทยา เนื่องจากมีงานวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่า พฤติกรรมการนั่งๆ นอนๆ เชื่อมโยงกับโรคอ้วน ระดับไขมันในเลือดสูง และปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจอื่นๆ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการกินอาหารขยะ

อนึ่ง เมื่อต้นปี มีงานวิจัยฉบับหนึ่งชี้ว่า ความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ หรือการเสียชีวตก่อนวัยเพิ่มขึ้นถึง 20% จากการดูทีวีเพียงวันละ 2 ชั่วโมง

ในทางกลับกัน งานศึกษาอีกฉบับแสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายเพียง 15 นาทีต่อวัน สามารถเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยได้ถึง 3 ปี และลดความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัย 14% รวมทั้งลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 4%

นอกจากนี้ รายงานที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ตยังระบุว่า การออกกำลังกายยังช่วยป้องกันโรคมะเร็ง แม้ว่ากิจกรรมนี้จะมีประโยชน์สูงสุดหากออกกำลังกายวันละ 100 นาทีก็ตาม

การศึกษาดังกล่าวครอบคลุมผู้ใหญ่กว่า 400,000 คนที่เข้าร่วมโปรแกรมการตรวจสุขภาพในไต้หวัน ซึ่งมีการติดตามผลระหว่างปี 1996-2008

ผู้เชี่ยวชาญพบว่า ถ้าออกกำลังกายเล็กน้อยต่อวันจะสามารถลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ถึง 1 ใน 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น